หน้าแรก บริการรถเช่า บริการเรือเช่า วันไหนปะการังสวย การเลือกใช้บริษัทนำเที่ยว เตรียมตัวก่อนเดินทาง ติดต่อ ตรังทริป

เมนู

 
สายการบิน นกแอร์
สายการบิน แอร์เอเซีย
บริษัทขนส่ง
รถไฟไทย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 24/04/2008
ปรับปรุง 06/03/2024
สถิติผู้เข้าชม 2,579,752
Page Views 3,600,261
 

ประวัติจังหวัดตรัง

จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ด้านฝั่งทะเลตะวันตก มีหลักฐานความเป็นมาที่ยาวนาน แต่เนื่องจากตรังไม่ได้เป็นเมืองรบทัพจับศึก จึงไม่ค่อยมีชื่อในประวัติศาสตร์เท่าใดนัก ทั้งที่จริงตรังเป็นชุมชนมานานแล้ว มีหลักฐานพอจะอ้างอิงได้ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา เพื่อความเข้าใจประวัติความเป็นมาของตรัง ขอแบ่งยุคหรือสมัยของตรังเทียบเคียงกับยุคของประวัติศาสตร์ภาคใต้และประวัติศาสตร์ไทย ดังนี้

     ๑. ชุมชนตรังยุคก่อนประวัติศาสตร์

     ๒. ชุมชนตรังยุคอาณาจักรโบราณในภาคใต้

     ๓. ชุมชนตรังยุคสุโขทัย

     ๔. เมืองตรังสมัยกรุงศรีอยุธยา

     ๕. เมืองตรังสมัยกรุงธนบุรี

     ๖. เมืองตรังสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

     ๗. เมืองตรังสมัยการปกครองหัวเมืองฝั่งตะวันตก

     ๘. เมืองตรังสมัยตั้งเมืองที่กันตัง

     ๙. เมืองตรังสมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง - ปัจจุบัน

 

๑.  ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์

 

จากการสำรวจของนักโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าตรังในยุคก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้นั้นมีการตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งกันแล้ว มีร่องรอยการดำเนินชีวิตอย่างเด่นชัด เช่น จากการศึกษาของ ดร.สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ เกี่ยวกับถ้ำซาไก ตำบลปะเหลียน ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะ ซึ่งใช้กันในยุคหินเก่า มีจำนวนถึง ๑๐๒ ชิ้น เครื่องมือสะเก็ดหิน จำนวน ๗๒๑ ชิ้น สะเก็ดหินอีก ๓๖๗ ชิ้น รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์ อายุราว ๖,๐๐๐ ถึง ๘,๐๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว นอกจากนี้ยังพบขวานหินขัด กระจัดกระจายในหลายท้องที่ หม้อสามขาและชิ้นส่วนภาชนะดินเผาทั้งผิวเรียบและลายเชือกทาบ พบในถ้ำหลายแห่ง เช่น ถ้ำหน้าเขา อำเภอนาโยง ถ้ำเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา ถ้ำเขาหญ้าระ อำเภอปะเหลียน ถ้ำหมูดินและเขาหลักจัน ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด รวมทั้งมีศิลปะถ้ำเกิดขึ้น ได้แก่ ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ เช่น ในถ้ำตรา ตำบลปากแจ่ม มีดวงตราเป็นรูปวงกลม ปัจจุบนลบเลือนไปมากแล้ว ส่วนที่ถ้ำเขาน้ำพรายซึ่งอยู่ใกล้กัน มีภาพเขียนสีแดงระบายสีทึบเรียงต่อกัน ที่เขาแบนะ หาดฉางหลาง ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีภาพเขียนสีแดงรูปปลา หลักฐานเหล่านี้แสดงว่า มีชุมชนเกิดขึ้นแล้วในท้องที่ตรังตั้งแต่ยุคหินเก่าตอนปลาย และมีการพัฒนาการเรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์

 

๒.  ชุมชนตรัง ยุคอาณาจักรโบราณในภาคใต้

 

การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เมืองตรัง ไม่อาจละเลยเรื่องราวของอาณาจักรโบราณในภาคใต้ ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่กำหนดนับการบันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษรเป็นจุดเริ่มต้น ไปจนถึงก่อนการเริ่มประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีสุโขทัยเป็นราชธานี ทั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาประมาณพุทธศตวรรณที่ ๕ - ๑๘

 

ชุมชนในคาบสมุทรภาคใต้มีการติดต่อกับต่างแดนมาช้านานโดยเฉพาะกับอินเดียมีร่องรอยอารยธรรมจากทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ปรากฏ ให้เห็นเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ จารึก เอกสารและมุขปาฐะ อยู่ทางด้านฝั่งทะเลตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางฝั่งทะเลตะวันตก มีแหล่งโบราณคดีใหญ่ที่สุดอยู่ในบริเวณอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นอกจากนั้น ก็มีควนลูกปัดที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในจังหวัดตรังมีโบราณวัตถุตามถ้ำเขาใกล้แม่น้ำตรัง บริเวณอำเภอห้วยยอด ทั้งสามจุดนี้คือปากประตูของเส้นทางข้ามคาบสมุทร ไปสู่ศูนย์กลางความเจริญทางฝั่งตะวันออก เฉพาะที่ตรัง มีแม่น้ำตรังที่สามารถเดินทางข้ามไปออกแม่น้ำตาปี ไปนครศรีธรรมราช และไปพัทลุงได้ นอกจากนี้ ยังมีแม่น้ำปะเหลียน ที่เป็นต้นทางเข้าสู่บ้านตระหรือช่องเขาตอนอื่น ๆ ข้ามไปยังพัทลุงได้เช่นกัน

 

มีผู้สันนิษฐานว่า เมืองตรังเป็นที่ตั้งของเมืองศูนย์กลางการค้าฝั่งทะเลตะวันตก ชื่อเมือง ตะโกลา แต่อีกกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ตะโกลาอยู่บริเวณเมืองตะกั่วป่า ในจังหวัดพังงา โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีประกอบ

เอกสารชาติตะวันตกมี หนังสือภูมิศาสตร์ของ คลอดิอุส ปโตเลมี เขียนตามคำบอกเล่าของพ่อค้าชื่ออเล็กซานเดอร์ เขียนขึ้นประมาณ พ.ศ. ๖๙๓ หรือ ๗๐๘ บรรยายถึงชื่อเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรทองรวมทั้งเมือง Takola อยู่ในดินแดน Chryse Chersonesos หรือสุวรรณทวีป เอกสารของอินเดียมี ภัมภีร์มหานิทเทส กล่าวถึงดินแดนต่าง ๆ รวมทั้ง ตักโกลา ตะมาลี สุวรรณภูมิ ส่วนในคัมภีร์มิลินทปัญหา พ.ศ.๙๔๓ (บางแห่งว่า พ.ศ.๕๐๐) ปรากฏชื่อ ตักโกลา สุวรรณภูมิ และในศิลาจารึกเมืองตันชอร์ ของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ ๑ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๕๗๓ - ๑๕๗๔ มีชื่อเมือง ตไลตฺ ตกฺโกลํ อยู่ด้วย

 

ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้มีความเห็นว่าตะโกลาอยู่ที่ตรัง กล่าวอ้างอิง ดร.เอช.จี.ควอริชท์ เวลส์ สำรวจบริเวณเมืองตะกั่วป่าปัจจุบันและทางข้ามคาบสมุทรที่ผ่านเขาสกแล้วมี ความเห็นว่า "ไม่เหมาะจะเป็นเมืองท่าเรือขนถ่ายสินค้าข้ามแหลม" ศาสตราจารย์มานิตเองก็เห็นว่าตะโกลาอยู่ที่เมืองตรัง "ยุคที่ ๑ - เหนือเขาปินะขึ้นไประยะหนึ่ง ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก มีปากคลองกะปาง ตรงข้ามคลองกะปาง เป็นบ้านหูหนาน เป็นที่ตั้งเมืองตรังครั้งแรกเรียกชื่อตามพื้นบ้านว่า กรุงธานี บริเวณนี้ถูกเกลื่อนทำเป็นสวนยางพาราเสียหมดแล้ว" จากนั้นก็วิเคราะห์ถึงแม่น้ำในหนังสือปโตเลมีว่า แม่น้ำไครโลนาสคือแม่น้ำตรัง แม่น้ำอัตตาบาส์คือแม่น้ำตาปี แม่น้ำปะลันดาคือคลองโอ๊ก และคลองมีนซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำไครโลนาสกับแม่น้ำอัตตาบาส์

 

ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐ นักภูมิศาสตร์เชื้อสายเจ้าเมืองตรังคนหนึ่ง กล่าวว่า ตามลักษณะภูมิศาสตร์ การเดินเรือในเขตมรสุม ถ้าจะเดินทางจากลังกา หรืออินเดียตอนใต้มายังสุวรรณภูมิ เมื่อตั้งหางเสือของเรือแล้วแล่นตัดตรงมา อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะนำเรือเข้าฝั่งแหลมทองบริเวณละติจูดที่ ๗ องศาเหนือ ตรงกับจังหวัดตรังพอดี

 

หลักฐานจากศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจและอ่านไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อความเป็นบทบูชาพระศิวิ จารึกด้วยอักษรอินเดียใต้เป็นภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ จารึกนี้แสดงว่ามีกลุ่มคนผู้บูชาพระศิวะ ซึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ใช้เส้นทางแม่น้ำตรังแยกเข้าทางคลองกะปาง ผ่านบ้านถ้ำพระเข้าสู่หุบเขาช่องคอยเข้า-ออก กับนครศรีธรรมราช

 

หลักฐานศาสนสถานและโบราณวัตถุ ได้แก่ วัดเก่าซึ่งเป็นวัดใหญ่ถึงสามวัดอยู่ใกล้กันในอำเภอห้วยยอด และอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำตรัง คือ วัดคีรีวิหาร วัดหูแกง วัดย่านเกลื่อน โดยเฉพาะวัดย่านเกลื่อนเป็นวัดร้าง มีวัดนอกและวัดใน อาณาเขตติดแม่น้ำตรัง เคยมีผู้ขุดพบพระทองคำ และมีหลักศิลาปักแสดงแนวเขตอุโบสถทั้งสี่ทิศ ทั้งมีใบเสมาและเสาหงส์ วัดคีรีวิหารมีพระบรรทมและพระพุทธรูปโบราณในถ้ำ และพบพรพิมพ์ดินดิบที่เรียกกันว่าพระผีทำด้วย วัดหูแกงมีพระพุทธรูปในถ้ำแต่ถูกทำลายไปแล้ว เหลือแต่อิฐและเสาหงส์ปรากฏอยู่ ที่เขาสายใกล้วัดหูแกงและที่เขาขาวก็มีพระพิมพ์เช่นกัน พระพิมพ์ที่พบมีหลายลักษณะ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกไว้เมื่อคราวเสด็จฯ ตรวจราชการแหลมมลายู พ.ศ. ๒๔๔๕ ว่า

 

ที่ถ้ำวัดคีรีวิหาร "มีรูปภาพพิมพ์บนดินดิบ วางซ้อนทับไว้กับพื้นมาก ที่เลือกพบมีสามอย่างด้วยกัน เป็นรูปลูกไข่อย่างหนึ่งมีรูปพระสี่กรอยู่กลาง มีเทวดาล้อม ๘ ตน เป็นรูปกลีบบัวอย่างหนึ่ง มีรูปพระสี่กรองค์เดียวใหญ่ รูปแผ่นอิฐอย่างหนึ่ง มีรูปพระสองกรอยู่กลาง (ที่พุทธรูป) มีสาวกฤาเทวดาสองข้าง อย่างรูปไข่มีมาก อย่างกลีบบัวมีน้อย อย่างแผ่นอิฐได้อันเดียว

 

ที่ถ้ำเขาสาย "รวมเทวรูปที่ได้มี ๖ ชนิด คือ ๑. รูปพระโพธิสัตว์สี่กรนั่งขัดสมาธิ ๒. รูปอย่างเดียวกันแต่ขนาดย่อม ๓. รูปพระโพธิสัตว์สองกรนั่งห้อย ๔. รูปพระโพธิสัตว์สองกรยืน ๕. รูปพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ ๖. รูปอย่างเดียวกันแต่องค์เล็ก ยังมีอีกที่ไม่รู้ว่าอะไร เป็นทีเม็ดยอดอะไรก็มี มีลายแลชิ้นอะไรแตก ๆ มีตราหนังสือ..." ต่อมายังมีผู้พบพระพิมพ์ดินดิบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจากถ้ำเขาขาว อำเภอห้วยยอด

 

ลักษณะของพระพิมพ์ข้างต้นเหมือนกับที่พบในชุมชนโบราณอื่น ๆ ทางภาคใต้ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ นับเป็นหลักฐานร่วมสมัยศรีวิชัย แสดงถึงการเข้ามาของพุทธศาสนานิกายมหายาน และอาจมีบางลักษณะที่ต่อเนื่องมาจนถึงยุคหลัง หลักฐานดังกล่าวในท้องที่จังหวัดตรังย่อมแสดงว่า เมื่อกลุ่มคนเหล่านั้นเดินทางเข้ามา คงจะได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความเชื่อแก่ชุมชนตามที่ราบลุ่มแม่น้ำตรังจนปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุเหลือให้เห็นอยู่

 

หลักฐานวัดเก่าไม่แน่ชัดว่าจะเก่าแก่มาแต่เดิมหรือไม่ ส่วนเสาหงส์นั้น อาจจะเข้ามาได้ถึง ๒ กรณี หนึ่งคือมาตามคติพราหมณ์ อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ พม่าตั้งให้พระมหาธรรมราชาปกครองกรุงศรีอยุธยา ได้มีท้องตราบังคับไว้ ๓ ข้อ คือให้พระสงฆ์ห่มจีวรแบบมอญ ให้หญิงไทยไว้มวยและให้วัดปักเสาหงส์ไว้ทุกวัด เสาหงส์ตามวัดในภาคใต้จะมาครั้งนั้นหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน

 

หลักฐานมุขปาฐะซึ่งบันทึกเป็นเอกสารในภายหลัง ได้แก่ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึง การทำศึกแย่งพระทันตธาตุในอินเดีย เป็นเหตุให้พระธนกุมารและนางเหมชาลาโอรสธิดาของกษัตริย์แห่งเมืองนนทบุรี ต้องนำพระทันตธาตุลงเรือหนีไปลังกา แต่ถูกพายุพัดเรือแตกเสียก่อน ต่อมาคลื่นซัดขึ้นฝั่งและได้รับความช่วยเหลือเดินบกจนถึงหาดทรายแก้ว ฝังพระทันตธาตุไว้ที่หาดทรายแก้ว แล้วเกิดเหตุอัศจรรย์ให้พระมหาเถรพรหมเทพเข้ามาพบเข้า พระมหาเถรทำนายว่า ผู้มีบุญจะมาสร้างเมือง ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้ และช่วยเหลือให้ทั้งสองนำพระทันธาตุเดินทางลงเรือไปลังกาได้สำเร็จ ต่อมาท้าวศรีธรรมาโศกราชได้มาสร้างเมือง ณ หาดทรายแก้ว สถานที่เคยฝังพระทันตธาตุไว้ เป็นเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น แล้วตั้งหัวเมืองบริวารทั้งหลายเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร กำหนดตราประจำเมือง ไว้ดังนี้

           ๑. เมืองสาย ตราชวด

           ๒. เมืองตานี ตราฉลู

           ๓. เมืองกลันตัน ตราขาล

           ๔. เมืองปาหัง ตราเถาะ

           ๕. เมืองไทร ตรามะโรง

           ๖. เมืองพัทลุง ตรามะเส็ง

           ๗. เมืองตรัง ตรามะเมีย

           ๘. เมืองชุมพร ตรามะแม

           ๙. เมืองบันทายสมอ ตราวอก

          ๑๐. เมืองสะอุเลา ตราระกา

          ๑๑. เมืองตะกั่วถลาง ตราจอ

          ๑๒. เมืองกระ ตรากุน

 

หลังจากนี้ ก็มีกษัตริย์ต่อมาจนถึงท้าวศรีธรรมาโศกราชจากเมืองอินทปัตย์บูรณะพระเจดีย์ ครั้งหนึ่ง พอล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีการบูรณะพระเจดีย์ครั้งใหญ่อีก ในครั้งนี้ตำนานกล่าวถึงการมอบหน้าที่ให้พระสงฆ์ เจ้าเมือง และชาวเมือง เช่น ในการทำพระระเบียงกำหนดให้ "ขุนแปดสระเจ้าเมืองตรัง ๕ ห้อง" ส่วนการทำกำแพงรอบพระระเบียงนั้น "ด้านอุดรไป ได้แก่ ขุนแปดสันเจ้าเมืองตรัง ๘ วา" (ชื่อเจ้าเมืองตรังที่ต่างกันอาจเป็นเพราะความผิดพลาดจากการเขียนเดิม)

 

ศิลาจารึกเมืองตันชอร์ ของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ ๑ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๕๗๓ - ๑๕๗๔ กล่าวถึงพวกโจฬะยกทัพมาตีเมืองต่าง ๆ ในแหลมมลายูได้ไว้ในอำนาจ ได้แก่ ดินแดนศรีวิชัย ปัณไณ มะไลยูร์ มัทธมาลิงคัม หลังจากนั้นศรีวิชัยก็เลื่อมอำนาจลง นักโบราณคดีกล่าวว่า มัทธมาลิงคัมเป็นที่เดียวกับตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช

 

จากหลักฐานศิลาจารึกที่ ๒๔ วัดเสมาเมือง (เป็นที่ถกเถียงว่าจะสลับกันกับจารึกวัดหัวเวียงอำเภอไขยา) กล่าวถึงกษัตริย์นามจันทรภาณุแห่งปทุมวงศ์ ผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์และมีบรมเดชานุภาพยิ่งใหญ่ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ ชื่อกษัตริย์จันทรภาณุยังปรากฎในหนังสือลังกามหาวงศ์ ว่าพระองค์ได้ยกทัพไปรุกรานเกาะลังกา ถึง ๒ ครั้ง คือ เมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๓ และ พ.ศ. ๑๘๑๓ อีกครั้งหนึ่ง

 

การยกทัพในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุระหว่างตามพรลิงค์กับลังกาไม่มีเส้นทางใดเหมาะสมกว่าแม่น้ำตรัง หลักฐานข้างต้นทั้งหมด แม้จะไม่ปรากฏชื่อเมืองตรังโดยตรง แต่จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่กล่าวมาแล้วสนับสนุนว่า ตรังมีชุมชนเรียงรายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำตรังตลอดไปจนถึงชายเขา การเดินทางเข้าออกจากฝั่งทะเลตะวันตกผ่านทางแม่น้ำตรัง ซึ่งสมัยเมื่อพันปีก่อนคงจะกว้างใหญ่และลึกเข้าไปมาก ขนาดที่กองทัพเรือจากอินเดียและนครศรีฯ ต้องใช้เส้นทางนี้ ส่วนความเป็นเมืองของตรังเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อครั้งสถาปนาเมืองสิบสองนักษัตร ในฐานะเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช สถานะของเมืองตรังในยุคนี้ จึงเป็นเมืองท่าปากประตูความสัมพันธ์ด้านการค้า การเมืองและศาสนา ระหว่างอินเดียไปจนถึงดินแดนตะวันตกกับอาณาจักรโบราณในภาคใต้ ทั้งศรีวิชัย และตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช

 

๓. ชุมชนตรังสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

หากนับการเริ่มต้นของกรุงสุโขทัยตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีเอกสารในเชิงตำนาน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงสุโขทัยกับสิริธรรมนคร หรือนครศรีธรรมราช คือในตำนานพระพุทธสิหิงค์จากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พระเจ้าโรจนราชหรือพระเจ้าล่วงแห่งกรุงสุโขทัย ร่วมกับพระเจ้าสิริธรรมนครส่งสมณฑูตไปขอพระพุทธสิหิงค์ยังลังกาทวีป ตอนเดินทางกลับเกิดเรือแตก แต่มีพระยานาคราชมาช่วยไว้ ทำให้พระเจ้าสิริธรรมนครได้พระพุทธปฏิมากลับคืน แล้วพระเจ้าล่วงก็มารับพระพุทธสิหิงค์ไปสุโขทัย เรื่องนี้จะสอดคล้องกับตำนานท้องถิ่นทั้งของเมืองตรังและเมืองพัทลุง

 

ตำนานท้องถิ่นตรังเล่าถึงการนำพระพุทธสิหิงค์จากลังกามาซ่อนไว้ที่โคนต้นมะม่วงที่หมู่บ้านปาก น้ำตรัง ก่อนทางนครศรีธรรมราชจะนำส่งให้สุโขทัย ส่วนตำนานเมืองพัทลุง กล่าวถึงนางเลือดขาวและพระกุมาร ผู้สร้างเมืองพัทลุง มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเดินทางเข้ามายังเมืองตรัง เพื่อลงเรือไปยังลังกา ขากลับนางเลือดขาวและพระกุมารได้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ และพระบรรทมองค์หนึ่งไว้ที่เมืองตรัง วัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์อยู่ในอำเภอนาโยงปัจจุบัน ส่วนพระบรรทมที่ว่านั้น มีตำนานเกี่ยวข้อง ๒ แห่ง คือ อาจจะเป็นพระบรรทมวัดถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา หรือพระบรรทมวัดภูเขาทอง ตำบลน้ำผุด อำเภอเมืองตรัง องค์ใดองค์หนึ่ง

 

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง กล่าวว่า "สังฆราชปราชญ์ เรียนจบปิฎกไตร หลัวกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่ศรีธรรมราชมา" ทั้งจารึกนี้ รวมกับตำนานพื้นบ้านทางเหนือ ทางใต้ และท้องถิ่นตรัง ล้วนชี้ไปทางเดียวกันว่า การเดินทางของพุทธศาสนาจากลังกาจะมารวมศูนย์ที่นครศรีธรรมราช ก่อนเข้าสู่สุโขทัย และดินแดนตรังยังทำหน้าที่เช่นเดิม คือ เป็นเมืองท่าปากประตูของนครศรีธรรมราช ความเป็นชุมชนตามทุ่งราบริมแม่น้ำตรังและคลองสาขา รวมทั้งชุมชนชายเขา ย่อมเป็นปึกแผ่นขึ้นแล้วในยุคนี้ อย่างน้อยวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ที่อำเภอนาโยง และพระพุทธรูปนอน ทั้งที่ถ้ำพระพุทธและวัดภูเขาทองย่อมยืนยันความเป็นไปได้ของตำนาน รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์ที่ตำนานกล่าวว่า นางเลือดขาวอัญเชิญมาจากลังกา ก็เคยอยู่คู่บ้านเมืองตรังเป็นเวลาหลายร้อยปี เพิ่งจะมาสูญหายไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้เอง

 

๔. เมืองตรังในสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์อู่ทองซึ่งมีอำนาจอยู่ในบริเวณภาคกลางเริ่มขยายอำนาจไปทั้งทางเหนือ และทางใต้ ในตำนานกล่าวว่า ท้าวศรีธรรมาโศกราชรบกับท้าวอู่ทอง ในที่สุดหย่าศึกกันที่บางสะพานแสดงว่าเมื่อเริ่มตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น นครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองของอยุธยาแล้ว และชัดเจนยิ่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กฎมณเฑียรบาลระบุว่าเมืองนครฯ เป็นเมืองหนึ่งใน ๘ เมืองพระยามหานคร ต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และเป็นตัวแทนราชธานีปกครองหัวเมืองอิสระในภาคใต้ทั้งหมด

 

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เมื่ออัลบูแกร์ก (Afonso de Albuquerque) ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกส ยกทัพเรือมาตีมะละกาได้ใน พ.ศ. ๒๐๕๔ เมื่อทราบว่ามะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทย ก็ได้ส่งผู้แทนไปทำสัมพันธไมตรีกับอยุธยาถึง ๒ ครั้ง โดยเดินทางผ่านท่าเรือเมืองตรัง

 

ครั้งที่ ๑ ให้ ดูอาร์เตช เฟอร์นานเดช (Duarte Fernandez) เข้ามาทางช่องแคบสิงคโปร์ผ่านอ่าวไทย เพื่อถวายสาสน์จากอัลบูแกร์กพร้อมกับของขวัญ การเดินทางกลับครั้งนี้ผ่านทางเท่าเรือเมืองตรัง (arrived at Trangque, a city of the King of Siam) เท่าที่พบหลักฐานถือได้ว่า คนกลุ่มนี้คือชาวตะวันตกชุดแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ที่สำคัญคือคนชุดแรกนี้เดินทางผ่านท่าเรือเมืองตรัง

 

ครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๖ อัลบูแกร์ก อาซเวโด (Antonio Miranda de Azevedo) และมานูเอล ฟราโกโซ (Manuel Fragoso) คนหลังนี้เพื่อให้รวบรวมข้อมูลเขียนหนังสือเกี่ยวกับมารยาท ธรรมเนียมต่าง ๆ การแต่งกาย การค้าขาย และแผนที่ตั้งท่าเรือต่าง ๆ ของสยาม การเดินทางเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาจากมะละกาขึ้นมาบกที่เมืองตรังอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินทางต่อไปยังนครศรีธรรมราช เพื่อลงเรือไปกรุงศรีอยุธยา

 

นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ในหนังสือ The Suma Oriental ว่าหัวเมืองภาคใต้แยกเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่ ฝั่งตะวันออก มีพระยานครศรีธรรมราช อุปราชคนที่ ๒ ปกครองตั้งแต่เมืองปะหังขึ้นไปถึงอยุธยา ส่วนฝั่งตะวันตก ซึ่งมีเมืองตะนาวศรี ตรัง และไทรบุรี อยู่ในอำนาจของขุนนางอีกผู้หนึ่ง ชื่อ Vya Chacotay (น่าจะเป็นพระยาสุโขทัย) หากถือตามเอกสารนี้ ในช่วงต้นของอยุธยา เมืองตรังมิได้ขึ้นต่อนครศรีธรรมราช

 

หลักฐานความเป็นเมืองตรังชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรกที่จารึกถ้ำเขาสามบาตร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นอักษรสมัยอยุธยาลักษณะเดียวกับที่วัดป่าโมก ซึ่งมีใจความดังนี้

กำไวเมื่อพระบาดพระเจ้าพระเพด

พระศรีค่งพระพรมพระพุทรัก

ษาแลเจ้าแน่นทั้งหลายมาเลิกสาด

สนาพระเจ้าในเขาสะบาปและพระเจ้านัน

ธรรมาณรายมา...แลวแลพระบาดเจ้ามาเป็น

พระ...แก...ขุนนางกรมการทัง...เมือง

แลสัปรุศชายญ...ให้เลิกสาศนาพระพุท่เจากํบริบูน

แล้วแลสัปรุศ...ชวนกันฉลองกุสลบุญแลเพื่อวาจะปรา

ถนาพํนจากทุก...หาสู่กกุราชได้สองพันร้อยหาสิบ

เจดปีเจดวันนันแล...สุกกุราชใด...ปีเมื่อญกพระเจ้าวัน

สุดเดือนเจดขึ้นสองค่า...นักสัตรฉสกบอกไว้ให้เป็น...

สิน...แลผู้จํ...นาไปเมือหน้า

 

สรุปความได้ว่าใน พ.ศ.๒๑๕๗ ตรงกับสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ตรังมีชุมชนใหญ่ระดับเมืองตรงบริเวณเขา "สะบาป" มีขุนนางและกรมการเมืองพรั่งพร้อม มา "เลิกศาสนา" คือ ปฏิสังขรณ์วัด บริเวณที่ตั้งเมืองในระยะนี้น่าจะอยู่ไม่ไกลจากเขาสามบาตร

 

ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราชมีฐานเป็นหัวเมืองชั้นเอก พอถูกพม่าตีกรุงแตก พ.ศ.๒๕๓๐ ปลัดเมือง (หนู) ได้ขึ้นเป็นเจ้านคร ตั้งตนเป็นอิสระ มีเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ชุมพรถึงแหลมมลายู ซึ่งรวมทั้งเมืองตรัง มาขึ้นกับเจ้านคร (หนู) เป็นชุมนุมนครศรีธรรมราช หนึ่งใน ๕ ชุมนุมหลังกรุงแตก

 

๕. เมืองตรังสมัยกรุงธนบุรี

 

เมื่อพระเจ้าตากสินปราบชุมนุมพิษณุโลกและพิมายได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีนครศรีธรรมราช ใน พ.ศ.๒๓๑๒ เจ้านคร (หนู) หนีไปถึงปัตตานี กองทัพกรุงธนบุรีตามจับได้ เนื่องจากยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี จึงพระราชทานอภัยโทษ โปรดให้เข้ารับราชการในกรุง แล้วทรงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์ พระเจ้าหลานเธอ ปกครองนครศรีธรรมราชในฐานะเจ้าประเทศราช ซึ่งรวมหัวเมืองภาคใต้ทั้งหมด ต่อมา พ.ศ.๒๓๑๙ เจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านคร (หนู) กลับมาปกครองนครฯ อีกครั้ง และยกเมืองขึ้นของนครฯ คือ ไชยา พัทลุง ถลาง ชุมพร ทั้งให้แยกเมืองสงขลา มาขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี หัวเมืองของนครฯ ในครั้งนั้น จึงมีแต่เมืองตรังและเมืองท่าทองคู่กันในฐานะเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันตก และฝั่งทะเลตะวันออกเท่านั้น

 

๖. เมืองตรังสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

สมัยราชกาลที่ ๑ ตรังยังเป็นเมืองในกำกับของนครฯ มีผู้ว่าราชการเมืองตรังคนหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพระยาตรัง (สีไหน) ผู้เป็นกวี ซึ่งถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๓๓๐ แล้วให้พระภักดีบริรักษ์มาว่าราชการแทน พระภักดีบริรักษ์กราบบังคมทูลขอยกเอาเมืองตรังรวมกับเมืองภูรา ชื่อ เมืองตรังภูรา ขณะนั้นมีโต๊ะปังกะหวาหรือพระเพชภักดีศรีสมุทรสงคราม เป็นปลัดเมือง โต๊ะปังกะหวาได้เป็นพระยาลิบง ว่าราชการเมืองต่อจากพระภักดีบริรักษ์ แล้วเกิดเป็นอริวิวาทกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองตรังไปขึ้นกับกรุงเทพฯ เมื่อพระยาลิบงถึงแก่กรรม หลวงฤทธิสงครามว่าราชการเมืองตรังต่อมา แต่ไม่สันทัดในการบริหารบ้านเมือง ทางราชธานีจึงยกเมืองตรังให้ขึ้นต่อสงขลา ที่ตั้งเมืองอยู่ที่เกาะลิบงตั้งแต่สมัยโต๊ะปังกะหวา

 

มีหลักฐานบอกเล่า เรื่องพระยาตรังผู้มีความสามารถทางกวี และมีภรรยาหลายคน เล่ากันว่า ในช่วงที่พระยาตรังไม่อยู่ ภรรยาคนที่ ๓ ถูกชายชู้พาตัวไป และได้เขียนบทกลอนท้าทายไว้ที่ประตูห้องว่า "เราไม่ดีเราไม่พานารีจร ข้ามห้วยสิงขร ชะง่อนผา" พระยาตรังกลับมาเห็นก็โกรธมาก และเขียนกลอนไปว่า "เราไม่เก่ง เราไม่พานารีจร จะเฆี่ยนพ่อให้มันยับลงกับหวาย" แล้วตามหาภรรยากับชายชู้จนพบ นำมาเฆี่ยน ใช้ไม้ไผ่ตงทั้งลำคีบเป็นตับปลาย่างไฟจนตาย ขุดหลุมฝัง แล้วให้ช้างเหยียบที่บริเวณวัดควนธานี บางกระแสเล่าว่า ฝังไว้ที่วัดพระงาม อาจเป็นไปได้ว่าพระยาตรังถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ เพราะเหตุนี้

 

ใน พ.ศ.๒๓๔๕ ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงหลวงอุไภยราชธานี เป็นผู้พยาบาลเมืองตรัง ถือศักดินา ๑๖๐๐ แสดงว่า เมืองตรังเป็นเมืองสำคัญ เพราะเจ้าเมืองที่ถือศักดินา ๑๖๐๐ ของนครศรีธรรมราชขณะนั้น มีเฉพาะเมืองตรังกับเมืองท่าทองเท่านั้น ต่อมา พ.ศ.๒๓๕๕ ในทำเนียบกรมการเมืองตรังของเก่า กล่าวถึงการจัดระเบียบเมืองตรังอีกครั้ง มีชื่อพระอุไภยราชธานีเป็นผู้ว่าราชการเมือง แต่จะอยู่ในตำแหน่งกี่ปีไม่แน่ชัด พระอุไภยผู้นี้มีหลักฐานคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่าเป็นผู้สร้างศาลหลักเมือง ตรังที่ตำบลควนธานี พร้อม ๆ กันนี้ พระยานคร (น้อย) ก็จัดการเรื่องการค้าขายกับหัวเมืองมลายู และอินเดียผ่านทางท่าเรือกันตัง สินค้าสำคัญ มีช้างและดีบุก การเก็บภาษีที่สำคัญอีกทางหนึ่งได้จากรังนกและปลิงทะเล

 

พ.ศ.๒๓๖๗ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่เกาะปีนัง ได้ส่งร้อยโท เจมส์ โลว์ เป็นฑูตเดินทางมาเพื่อเจรจาความเมืองกับพระยานคร (น้อย) แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเมืองนครฯ ฝ่ายพระยานครฯ ก็ไม่ได้ออกมาพบ เพียงแต่ส่งบุตรชาย (ซึ่งคงจะเป็นนายน้อยกลาง ภายหลังได้เป็นพระเสน่หามนตรี) ไปพบ เจมส์ โลว์ ที่หมู่บ้านพระม่วงปากน้ำตรัง ระยะนี้เมืองตรังยังคงเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ สินค้าออกมี ข้าว ดีบุก งาช้าง รังนก ฯลฯ ทั้งยังเป็นอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ มีคนประจำทำงานต่อเรืออยู่ถึง ๑,๐๐๐ คน

 

พ.ศ.๒๓๘๑ มีงานถวายพระเพลิงศพพระสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนี พันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓ พระยาสงขลา เจ้าพระยานคร (น้อย) เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตนกูมะหะหมัดสอัด ตนกูมะหะหมัดอาเกบ หลานเจ้าพระยาไทรบุรีก่อกบฎ ยึดเมืองไทรบุรีได้เข้าแล้วตีปัตตานี สงขลา และหัวเมืองแขกทั้งเจ็ด ทั้งให้หวันหมาดหลี สลัดแขกที่เกาะยาว เข้ามาตีเมืองตรังด้วย ขณะนั้นมีพระสงครามวิชิตเป็นผู้ว่าราชการเมือง ปรากฏว่า สู้พวกโจรสลัดไม่ได้ หนีแตกมาพร้อมกับคนหกคนไปแจ้งข่าวแก่เมืองนครฯ

 

พระสงครามวิชิตผู้นี้ชื่อ ม่วง เป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ภายหลังคงจะได้เป็นพระอุไทยธานีปกครองเมืองตรังต่อมา แล้วคงจะมีเหตุให้ถูกถอดจากราชการ เป็นนายม่วงอุไทยธานีนอกราชการ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จฯ สงขลา พ.ศ.๒๔๐๒ ได้ตามเสด็จฯ แล้วหนีเลยมาเมืองตรัง จึงถูกสั่งให้นำตัวเข้ากรุงเทพฯ โดยเร็ว ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปสักเลกที่ชุมพรและถึงแก่กรรมที่เมืองนั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕

 

หลังพระอุไทยธานี เมืองตรังมีผู้ว่าราชการเมืองอีกคนหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพระยาตรังนาแขก (สิงห์) สุดท้ายป่วยถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ ทางกรุงเทพฯ จึงมีสารตราแต่งตั้งหลวงพิชัยธานปีปลัดเมืองให้เป็น พระตรังควิษยานุรักษ์พิทักษ์รัฐสีมา (ต้นตระกูล วิทยารัฐ) จนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๖ ปรากฏว่า เมืองตรังว่าง เจ้าเมืองมีสารตรามอบให้พระศิริธรรมบริรักษ์ ปลัดเมืองนครศรีธรรมราชรักษาเมืองตรัง

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรังอยู่ในฐานะเมืองท่าค้าขายของนครศรีธรรมราช ไม่ได้เป็นเมืองอิสระ เพราะผู้ทำการค้าและเก็บภาษี คือ เมืองนครฯ ยกเว้นครั้งที่พระยาลิบงเป็นผู้ว่าราชการเมืองเท่านั้น ที่ตรังได้เป็นอิสระปกครองตนเอง สามารถจัดการผลประโยชน์ทางการค้าส่งภาษีตรงต่อกรุงเทพฯ ได้เอง อีกฐานะหนึ่งของตรัง คือ เป็นเมืองหน้าด่านที่เป็นแหล่งรวมกำลังกองทัพเรือไว้ป้องกันศัตรูอันได้แก่ พม่า และคอยกำราบหัวเมืองมลายูที่มักจะเอาใจออกห่างอยู่เสมอ สภาพเหล่านี้สิ้นสุดลงเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ส่วนหัวเมืองมลายูนั้นไทยได้ยุติการขยายอิทธิพลลงไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๙ หลังจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ.๒๓๘๒ แล้ว ทางเมืองนครศรีธรรมราชก็มิได้สนใจเรื่องการทำนุบำรุงหรือการค้าขายผ่านทาง เมืองตรังต่อไปอีก เมืองตรังคลายจึงมีความสำคัญลง ขณะที่เมืองระนอง ภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า มีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเมืองดีบุกที่ทำรายได้ปีละมาก ๆ

 

๗. เมืองตรังสมัยการปกครองหัวเมืองฝั่งตะวันตกและมณฑลภูเก็ต

 

สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ มีเหตุการณ์กรรมกรจีนก่อความไม่สงบในหัวเมืองฝั่งตะวันตกอยู่เนือง ๆ ประกอบกับหัวเมืองเหล่านี้มีผลประโยชน์มาก แต่เก็บภาษีได้ไม่เต็มที่ รัฐบาลจึงตั้งข้าหลวงมาประจำกำกับราชการและจัดเก็บภาษีอากร เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๘ ข้าหลวงคนแรกคือเจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค ต่อมาได้เป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์) เมื่อกรรมกรจีนก่อเหตุจราจลครั้งใหญ่ในภูเก็ต พ.ศ.๒๔๑๙ ต้องใช้กองกำลังจากกรุงเทพฯ และเมืองใกล้เคียงมาช่วยปราบปราม จากเหตุการณ์จราจล ทำให้จำเป็นต้องมีเมืองศูนย์กลางของข้าหลวงใหญ่อีกแห่งหนึ่ง หากมีปัญหาจะได้ระดมกำลังจากหัวเมืองต่าง ๆ ไปช่วยได้ทันท่วงที เมืองตรังซึ่งเดิมขึ้นกับนครฯ จึงถูกจัดให้เป็นศูนย์กลางกำกับราชการของข้าหลวงฝ่ายตะวันตกแต่นั้นมา

 

พ.ศ.๒๔๒๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ออกมาตรวจราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก เห็นสภาพเมืองตรังเหมาะแก่การเพาะปลูกและค้าขาย จึงคิดปรับปรุงเมืองตรังให้เจริญรุ่งเรือง จะได้เป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูลสืบไป รัชกาลที่ ๕ ก็มิได้ขัดขวางประการใด

การสร้างเมืองครั้งนี้ มีผลต่อระบบการปกครองเมืองตรังโดยตรง เพราะเมืองตรังพ้นจากการกำกับของนครฯ ไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีการกำหนดเขตแดน และแยกเก็บภาษีอากรเป็นของตรังโดยเฉพาะ ในระยะแรกสมเด็จเจ้าพระยาฯ เน้นการก่อสร้างสถานที่ราชการ โดยเฉพาะตึกศาลารัฐบาลหรือ Government House ที่มีขนาดใหญ่โตมาก (ปัจจุบันยังมีซากอิฐเหลืออยู่) ทำให้เงินภาษีอากรที่ได้รับไม่เพียงพอ ต้องยืมจากหัวเมืองใกล้เคียงมาสมทบ ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงวางแนวทางส่งเสริมเมืองตรังให้เป็นเมืองท่าค้าขายขึ้นก่อน เพื่อจะได้ทุนสำรองไว้ใช้จ่าย โดยให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง มารักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตรังอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่ยังทำการได้ไม่ทันเป็นผล สมเด็จเจ้าพระยาก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อนใน พ.ศ. ๒๔๒๕

 

การส่งเสริมเมืองตรังให้เป็นเมืองท่าค้าขาย มีหลักฐานบอกเล่าว่า           พระยารัตนเศรษฐีส่งเสริมการปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาลทรายแดง เพื่อส่งขายมลายู มีร่องรอยโรงงานและลูกโม่หีบอ้อยที่หมู่บ้านจุปะ ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง (ลูกโม่หีบอ้อยจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ) ที่ตำบลลำภูราก็มี แสดงว่าโรงงานทำน้ำตาลมีหลายแห่ง การส่งเสริมสินค้าออกคงจะมีหลายชนิด แต่เนื่องจากพระยารัตนเศรษฐีถนัดในเรื่องเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งที่เมืองตรังไม่ได้มีปริมาณมากเหมือนที่ระนอง รวมทั้งต้องรับผิดชอบราชการถึง ๒ เมือง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จจึงลากลับไปประจำเมืองระนองแห่งเดียวใน พ.ศ.๒๔๒๘ เมืองกลับมาอยู่ในกำกับของข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกอีก ๒ สมัย จนถึง พ.ศ.๒๔๓๑ พระยาตรังภูมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง

 

พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองรอบแหลมมลายู และเสด็จฯ เมืองตรังด้วย ทรงเห็นว่าเมืองตรังทรุดโทรมมาก ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระอัษฎงคตทิศรักษา (คอมซิมบี๊ ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองกระมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี

 

๘. เมืองตรังสมัยตั้งเมืองที่กันตัง

 

เมื่อพระยารัษฎาฯ มารับตำแหน่ง พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ดำเนินการพัฒนาเมืองตรังทุกด้าน โดยมีจุดมุ่งหมายจะทำให้เป็นเมืองค้าขาย เริ่มจากการย้ายเมืองจากตำบลควนธานีไปตั้งที่ตำบลกันตัง และสร้างความเจริญแก่เมืองตรังอย่างมาก

 

การพัฒนาในสมัยพระยารัษฎาฯ ที่จะนำไปสู่ความเป็นเมืองท่าค้าขายมีอยู่หลายด้าน เริ่มจากการแก้ปัญหาความไม่สงบเรื่องโจรผู้ร้าย และส่งเสริมอาชีพพื้นฐานคือการเกษตร เริ่มต้นจากเกษตรยังชีพในครัวเรือน และขยายเป็นเกษตรเพื่อการค้า โดยใช้กุศโลบายต่าง ๆ และระบบกลไกของรัฐ เช่น การยกเว้นเก็บภาษีอากรและเกณฑ์แรงงานแก่ผู้บุกเบิกทำนา จนสามารถส่งข้าวขายปีนังได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ชาวเมืองตรังอดข้าว ต้องซื้อจากปีนังอยู่เสมอ การสร้างถนนและสะพานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าใน ท้องถิ่น และส่งขายต่างประเทศทางท่าเรือกันตัง พระยารัษฎาฯ ส่งเสริมบริษัทตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ท่าเรือกันตัง สินค้าสำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ เป็ด ไก่ สุกร โค กระบือ พริกไทย ข้าว ตับจาก ไม้เคี่ยม ไม้โปรง เป็นต้น การพัฒนาของพระยารัษฎาฯ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในส่วนกลาง ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูประบบราชการ และนำพาชาติเข้าสู่การพัฒนาให้เทียบทันอารยประเทศ การก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ที่กำหนดให้มีทางแยกจากทุ่งสงมุ่งสู่ท่าเรือกันตัง เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๔ ส่วนในสายแยกตั้งแต่ทุ่งสงถึงกันตัง เปิดการโดยสารระหว่างกันตัง - ห้วยยอด วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๖ และต่อมา เปิดการโดยสารระหว่างห้วยยอดกับทุ่งสง ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๖ (นับปีแบบเก่า ขึ้นศักราชใหม่เดือนเมษายน เดือนมกราคม เป็นเดือนที่ ๑๐ ของปี) เส้นทางรถไฟนี้ส่งเสริมนโยบายเมืองท่าค้าขายของพระยารัษฎาฯ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระยารัษฎาฯ ยังได้มองการณ์ไกล ที่จะทำให้กันตังเป็นท่าเรือค้ากับต่างประเทศได้เต็มศักยภาพ โดยเสนอทางรัฐบาลจัดสร้างท่าเรือน้ำลึก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน

 

ใน พ.ศ.๒๔๓๕ ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากระทรวงมหาดไทย และเริ่มการปกครองระบบมณฑลขึ้นเป็นครั้งแรก หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกเดิมเปลี่ยนเป็นมณฑลภูเก็ต เมืองตรังเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต

 

พ.ศ.๒๔๓๔ ทางการได้ยุบเมืองปะเหลียนรวมกับเมืองตรัง ต่อมามีประกาศข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) แบ่งท้องที่การปกครองเป็นอำเภอ จังหวัดตรังมี ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง (กันตัง) อำเภอบางรัก อำเภอเขาขาว(ห้วยยอด) อำเภอสิเกา และอำเภอปะเหลียน มีตำบลรวม ๑๐๙ ตำบล

 

พ.ศ.๒๔๔๔ พระยารัษฎาฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต มีผู้ว่าราชการเมืองตรังต่อจากพระยารัษฎาฯ ๕ คน พอถึง พ.ศ.๒๔๕๘ สมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (สิน เทพหัสดินฯ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง มหาอำมาตย์โท พระยาสุรินทรราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ฯ) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เห็นว่าเมืองที่กันตังอยู่ในทำเลไม่เหมาะสม เนื่องจากตอนสงครามโลกครั้งที่ ๑ เรือดำน้ำของเยอรมันชื่อเอ็มเด็น ได้ลอยลำยิงถล่มปีนัง หากมีสงครามเกิดขึ้นอีก เมืองตรังอาจจะถูกยิงเช่นปีนัง รวมทั้งพื้นที่ลุ่ม และมีโรคระบาด หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ.๒๔๕๘ แล้ว จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองไปตั้งที่อำเภอบางรัก และได้ย้ายไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๘

 

๙. เมืองตรังสมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง - ปัจจุบัน

 

เมื่อย้ายเมืองมาที่อำเภอบางรักแล้ว ในตอนแรกใช้ตำหนักผ่อนกายเป็นศาลากลางชั่วคราว ชื่ออำเภอบางรักเปลี่ยนเป็นอำเภอทับเที่ยง ใน พ.ศ.๒๔๕๙ และเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองตรัง พ.ศ.๒๔๘๑

พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดตรังอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ได้ทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนวิเชียรมาตุ ในวันที่ ๓ พฤษภาคม

 

พระยารัษฎาฯ (สิน เทพหัสดินฯ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไปจนถึง พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อจากนั้นพระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) มารับตำแหน่ง และดำเนินการก่อสร้างศาลากลางจังหวัด จนเปิดทำการได้ใน พ.ศ. ๒๔๖๓

 

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ พระยาสุรินทรราชา (นกยูง วิเศษกุล) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้เอาใจใส่พัฒนาเมืองตรังหลายด้าน จึงปรากฏชื่อเป็นอนุสรณ์ไว้ที่เมืองตรัง เช่น กะพังสุรินทร์ ถนนวิเศษกุล วัดควนวิเศษ ที่ตำบลทับเที่ยง ถ้ำสุรินทร์ ที่อำเภอปะเหลียน

 

พ.ศ.๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ เลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จฯ เมืองตรัง ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยไว้ที่น้ำตกช่องและถ้ำเขาปินะ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จังหวัดตรังนับเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งในเป้าหมายการยกพลขึ้นบกของกองทัพ ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีร่องรอยการตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นหลายแห่ง แต่ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น

 

พ.ศ.๒๔๘๓ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ตรวจราชการเมืองตรัง ดำริว่า ควรสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎาฯ จังหวัดตรังจึงดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อย ทำพิธีประดิษฐานในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๙๓ และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการพร้อมกับเฉลิมฉลองในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๔

 

พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคใต้ เสด็จฯ จังหวัดตรัง ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๒ เมื่อเสด็จฯ น้ำตกช่อง ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยและพระนามาภิไธยย่อไว้ที่ก้อนหินใหญ่บริเวณโตนน้ำ ปลิว คืนวันที่ ๑๖ ประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดตรังเริ่มการปกครองสุขาภิบาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ ที่อำเภอทับเที่ยง ต่อมาหลังจากที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ สุขาภิบาลเมืองตรัง ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองตรัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ และเป็นเทศบาลนครตรัง พ.ศ.๒๕๔๒ ส่วนเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลอื่น ๆ เกิดขึ้นมาตามความพร้อมของท้องถิ่น

 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ และยุบเลิกการปกครองในระบอบมณฑล ใน พ.ศ.๒๔๗๖ แล้ว ตรังมีฐานะเป็น ๑ ใน ๗๐ จังหวัดของประเทศไทย และเริ่มเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ การเลือกตั้งคราวนั้น ได้ นายจัง จริงจิตร เป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดตรัง

 

รูปแบบการปกครองท้องถิ่นอีกลักษณะหนึ่ง คือ สภาจังหวัด ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ สภาจังหวัดมีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือแนะนำกรมการจังหวัด คณะกรรมการสภาจังหวัดตรังชุดแรกเปิดประชุมครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๘ ที่ศาลาเทศบาลเมืองตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัด เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๔๙๘ และเปลี่ยนแปลงตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ ที่โอนอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นอำนาจของท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลชุดแรกของจังหวัดตรัง เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ จำนวน ๑๒ ตำบล เพิ่มเป็น ๘๑ ตำบลใน พ.ศ.๒๕๔๐ และ ๘๕ ตำบล ใน พ.ศ.๒๕๔๔


ที่มา : ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ

น.ส.สุนทรี สังข์อยุทธ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง เรียบเรียง/www.trang.go.th

 

www.trangtrip.com



อันดาเลย์ บีช รีสอร์ท เกาะลิบง
โรงแรม เดอะพาราวู้ด ณ ตรัง
โรงแรม ชมตรัง ChomTrang Hotel

บ้านบางรัก เรสซิเดนซ์  Baan Bangrak Residence


























หน้าแรกติดต่อ ตรังทริป วันไหนปะการังสวย

By: ตรังทริป แอนด์ แทรเวล  : trangtrip and travel : ทัวร์ตรัง เที่ยวทะเลตรัง ทัวร์ทะเลตรัง  ตรังทริป  ทริปตรัง  ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดตรัง แพคเกจทัวร์ตรังราคาพิเศษ โทร. 081- 271 7486 , 086 - 476 3286  www.trangtrip.com ,  www.ตรังทริป.com , Email: reservation-trangtrip@hotmail.com  ,  Copyright 2005 - 2015 All rights reserve. 

 
  
view